ข้าวอินทรีย์ลุงบุญมี
"บุญมี สุระโคตร วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง อ.ราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ
“ถ้าต่างคนต่างอยู่แน่นอนว่าเราก็เหนื่อย เราต้องร่วมกันคิด ร่วมกันทำ”
กว่าจะมีวันนี้ได้ลุงบุญมีเจ้าของแบรนด์ข้าวเกษตรอินทรีย์ “ลุงบุญมี” ผ่านร้อนผ่านหนาวนานมาก ลิ้มลองหลากหลายอาชีพ ทั้งช่างเย็บผ้าโหล ช่างเฟอร์นิเจอร์ ช่างตัดผม และช่างเดินสายไฟ สุดท้ายได้ค้นพบตัวเองว่าสิ่งที่อยากทำที่สุดคือ “ทำนา ปลูกข้าว” แต่ต้องเป็นการทำนาปลูกข้าวแบบใช้วิถีเกษตรอินทรีย์ นำปรัญญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ จึงเริ่มทำเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง จนได้เป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำนา ประจำปี 2554
แต่ด้วยวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ลุงบุญมีมองว่า “การทำนาจะต่างคนต่างทำไม่ได้ เพราะไม่มีอำนาจต่อรองทางการค้า” จึงได้ชักชวนเกษตรกรในชุมชนบ้านอุ่มแสงหรือกลุ่มเกษตรทิพย์ ตำบลดู่ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ มารวมกลุ่มกันทำการเกษตรเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการขอความช่วยเหลือจากส่วนราชการ และต่อรองกับระบบทุนนิยม พยายามพึ่งพิงตนเอง และคนในชุมชนเป็นหลักให้เกษตรกรรู้จักตัวตนของตนเอง รู้เรื่องดิน ถ้าไม่รู้เรื่องดินจะทำเกษตรอินทรีย์ยาก ทำให้ระบบนิเวศในชุมชนกลับมาสมดุลและสมบูรณ์ขึ้นอีกครั้งด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์" จากปีแรกที่มีการรวมกลุ่มกันของชาวนาในชุมชน 68 ครัวเรือนจนถึงปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 1,258 ครัวเรือนทีร่วมกันปลูกข้าวในระบบเกษตรอินทรีย์
ติดตามเรื่องราวเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.facebook.com/kasedtipboonmeeorganicrice
ได้รับการรับรองจากมาตรฐานเกษตรอินทรีย์นานาชาติ หรือ IFOAM ของ Bioagricert S.r.l.
ได้รับการรับรองจากมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สหภาพยุโรป หรือ EU ของ Bioagricert S.r.l.
ได้รับการรับรองจากมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของสหรัฐอเมริกา (USDA) หรือ National Organic Program (NOP) ของ Bioagricert S.r.l.
หลังจากการทำนา สมาชืกส่วนหนึ่งจะมีการปลูกพืชหลังนาเพื่อบำรุงดิน ช่วยเพิ่มอินทรีย์วัตถุภายในดินและเพื่อเก็บผลผลิตไว้จำหน่าย เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง ถั่วพร้า ปอเทือง ทานตะวัน ตะไคร้ ในแปลงเกษตรอินทรีย์ ซึ่งในฤดูกาลทำนาในปีถัดไปจะช่วยลดค่าปุ๋ยอินทรีย์ลง แล้วเพิ่มผลผลิตของข้าวได้เพราะอินทรีย์วัตถุมีมากขึ้น และนอกจากนั้นยังมีรายได้เพิ่มจากการขายผลผลิตของพืชหลังนาที่เป็นเกษตรอินทรีย์ได้อีกด้วย
ถั่วเหลืองอินทรีย์ พันธุ์เชียงใหม่ 60 [Organic soybean Chang-mai 60]
ถั่วพร้า เป็นพืชประเภทหนึ่งที่ได้รับความสนใจในปัจจุบัน เพราะเป็นพืชที่ให้ธาตุไนโตรเจนในปริมาณสูง จึงนำมาทำเป็นปุ๋ยพืชสดได้เป็นอย่างดี ซึ่งทางภาครัฐก็ให้การสนับสนุนในการเพาะปลูก เนื่องจากสามารถเพาะปลูกได้ง่าย มีค่าใช้จ่ายต่ำในการนำมาใช้ประโยชน์ และไม่ส่งกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
การปั่นฟาง หลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วกลุ่มฯ จะส่งเสริมให้สมาชิกเก็บฟางไว้ทำปุ๋ยหมัก และปั่นฟาง(ตอซังข้าวที่อยู่ในแปลงนา เพื่อเพิ่มอินทรีย์วัตถุในแปลงนา ซึ่งอาจจะรวมไปถึงการทำให้ข้าวที่หล่นในนางอกอีกที อาจจะเป็นข้าวพันธุ์ที่ปลูกหรือข้าวเรื้อ จะงอกอีกครั้งถ้าดินยังมีความชื้น จะเป็นการกำจัดวัชพืชและตัดวงจรข้าวเรื้อไปในตัว
การทำปุ๋ยหมักจากฟางข้าว เป็นการนำฟางข้าวซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีมากอยู่แล้วในแปลงนา มาผ่านกระบวนการหมักกับมูลวัว ร่วมกับ พด.2 โดยใช้วิธีการหมักแบบไม่ต้องกลับกอง แต่จะมีการดน้ำทุกวัน และมีช่องระบายอากาศ ใช้ระยะเวลา 60 วัน ก็จะได้ปุ๋ยหมักฟางทีสามารถนำไปใช้ได้
© 2013-2024 มีลฟิคชัน โดย ดูอินไทย